ฉลากเขียว (Green label) หลังคาเหล็ก เทรนวัสดุที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

พันเอก ผศ.ดร. ณัฐพร นุตยะสกุล
ประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็ก
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

นอกจาก หลังคาเหล็กจะเป็นสินค้าที่เพิ่งมีการประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับใหม่ คือ มอก. 1128-2562 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้าไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานระดับโลกแล้ว ในบทความนี้ จะนำเสนอในอีกแง่มุมให้ทุกคนได้รับทราบว่า Trend ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค เป็นอีกด้านหนึ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กตระหนักอยู่เสมอ เพื่อสร้างให้สินค้าเหล็กจากผู้ผลิตในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน การผลิตสินค้าหรือบริการได้ใส่แนวคิดของการประเมินวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment; LCA) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต  การขนส่งและการกระจายสินค้า  การใช้งานผลิตภัณฑ์  ไปกระทั่งการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน ซึ่งแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่มีการใช้งานแพร่หลายในสินค้าอุตสาหกรรม  แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคก็นำแนวคิดนี้มาใช้ในการผลิตสินค้าเช่นกัน

รูป: การประเมินวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment; LCA) (ที่มา: Circular Construction in Practice)

สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กโลก (World Steel Association) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กชั้นนำของโลกร่วมกันดำเนินแนวทางยกระดับการผลิตเหล็กที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมและความคิดริเริ่มใหม่ๆ อาทิ การจัดทำตัวชี้วัดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเหล็ก (Sustainable steel indicator)   เอกสารนโยบายสาธารณะการประเมินวัฏจักรชีวิตในอุตสาหกรรมเหล็ก (Public policy paper Life cycle assessment in the steel industry)   แนวคิดเหล็กในเศรษฐกิจหมุนเวียน (Steel in circular economy) ฯลฯ

รูป: แนวคิดการประเมินวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ของสินค้าเหล็ก (ที่มา: World Steel Association)

รูป: แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเหล็ก (ที่มา: World Steel Association)

สำหรับประเทศไทย มีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environmental Institute; TEI) เป็นผู้ดำเนินการสร้างระบบการรับรองฉลากเขียว หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Green label ซึ่งได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นเลขานุการ  

ทั้งนี้ ความหมายของฉลากเขียว ที่ระบุโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายว่า เป็นฉลากที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ข้อดีของการมีฉลากเขียวติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ คือ ใช้เป็นเครื่องหมายให้กับผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ในส่วนผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายจะได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้นผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนในด้านเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตเองในระยะยาว ฉลากเขียวจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของประชาชน

ปัจจุบันมีสินค้าและบริการที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับรองฉลากเขียวโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแล้วกว่า 127 ผลิตภัณฑ์  ทั้งนี้ ฉลากเขียวนี้ถือได้ว่าเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ซึ่งถูกยอมรับในระดับนานาชาติ และปัจจุบันมีการใช้มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ภายใต้การรวมกลุ่มของประเทศทั่วโลกก่อตั้งเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อม (Global Ecolabelling Network : GEN) เพื่อดำเนินการโครงการฉลากเขียว  โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GEN ด้วย มีการทำความตกลงยอมรับการดำเนินการระดับองค์กร และความเชื่อถือของห้องปฏิบัติการในการทดสอบตามมาตรฐานร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement) ทำให้ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

รูป: ฉลากเขียวของประเทศไทย และประเทศต่างๆ (ที่มา: Green Products and Eco labels; สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)

สำหรับฉลากเขียวของสินค้าหลังคาเหล็กถูกกำหนดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการโครงการฉลากเขียว  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีที่มาจากความตระหนักของการใช้งานอย่างแพร่หลายในสินค้าชนิดนี้ ซึ่งกระบวนการผลิตหลังคาเหล็กสามารถก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากร และพลังงานจำนวนมากในการผลิต  นอกจากนี้ การใช้สีเคลือบหลังคาเหล็กที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบซึ่งเมื่อสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ขณะที่การเลือกใช้สีเคลือบหลังคาที่สามารถสะท้อนรังสีจากแสงอาทิตย์ได้ดี จะช่วยลดปริมาณความร้อนที่ถ่ายเทเข้าสู่ตัวอาคาร จึงช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากการทำงานของเครื่องปรับอากาศ  ดังนั้น การใช้ฉลากเขียวกับหลังคาเหล็กที่มีคุณสมบัติผ่านตามข้อกำหนดจะช่วยให้ประเทศมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดฉลากเขียวสำหรับหลังคาเหล็กสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ข้อกำหนดทั่วไป และ ข้อกำหนดพิเศษ โดยข้อกำหนดทั่วไป ระบุหลักเกณฑ์ที่ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านตามเกณฑ์การทดสอบและได้รับการรับรองตาม มอก. 1128 หลังคาเหล็ก พร้อมหลักฐานที่แสดงให้เชื่อถือได้ว่ามีการจัดการที่ดีในกระบวนการผลิต การขนส่ง รวมถึงการกำจัดของเสียหลังการผลิต  ขณะที่ข้อกำหนดพิเศษ ระบุ ให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านเกณฑ์ค่าการสะท้อนรังสีอาทิตย์ (Solar reflectance) , มีการผลิตจากวัสดุหลังการใช้งาน, ผ่านการทดสอบความทนละอองเกลือ 1000 ชั่วโมง และ ผ่านเกณฑ์การตรวจโลหะหนักและสารปนเปื้อนที่ตรวจพบในน้ำชะหลังคา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการได้รับฉลากเขียวของสินค้าคำนึงถึงปัจจัยที่มากกว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ในคุณภาพและแสดงถึงผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันมีหลังคาเหล็ก 2 รุ่นที่ได้รับฉลากเขียว ใช้เครื่องหมายการค้า LYSAGHT®  ของบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป ไลสาจท์ (ประเทศไทย) จำกัด

รูป: รายการสินค้าหลังคาเหล็ก และสินค้าอื่นๆ ที่ได้รับฉลากเขียว (ที่มา: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)

 

รายการฉลากเขียวสินค้าหลังคาเหล็ก

ปัจจุบันทางภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการคลังได้ออก กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8  ธันวาคม 2563 (ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา 22 ธันวาคม 2563) ใน หมวด 7/2 พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุว่า หากหน่วยงานภาครัฐต้องการใช้พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หน่วยงานสามารถกำหนดเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่มีรายละเอียดหรือคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้  และหากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีผู้ผลิตรายเดียวให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากผู้ขายโดยตรง  หรือหากมีผู้ขายสองรายขึ้นไปให้จัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก

จากแนวโน้มการก่อสร้าง บ้าน อาคาร บ้านที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ที่กำลังดำเนินไปสู่สังคมรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เน้นดูแลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค  เมื่อผนวกกับการส่งเสริมของภาครัฐ  จึงเป็นโอกาสดีที่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตหลังคาเมทัลชีทจะร่วมกันผลักดันและขยายให้มีสินค้าตามมาตรฐาน มอก. 1128 – 2562 และ ฉลากเขียวของหลังคาเหล็กกันมากขึ้น ซึ่งการขอรับรอง มอก. 1128 – 2562 สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่วนฉลากเขียวสามารถติดต่อได้กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

 

ที่มา

  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย [http://www.tei.or.th/greenlabel/]
  • World Steel Association
  • กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2)