วิธีคำนวณ ราคาหลังคาเมทัลชีท ให้คุ้มค่าก่อนซื้อ

คำนวณราคาเมทัลชีทอย่างง่าย คิดเองได้ สั่งเองเป็น

การสร้างบ้านคือความท้าทายในการบริหารการเงิน สำหรับบ้านที่เจ้าของบ้านมอบหมายให้ผู้รับเหมาจัดการรายการวัสดุต่าง ๆ จะต้องให้ผู้รับเหมาระบุรายการวัสดุและค่าแรงใน BOQ อย่างชัดเจน แต่ในกรณีที่เจ้าของบ้านจ้างเหมาเฉพาะค่าแรง โดยทำการสั่งซื้อวัสดุเอง จำเป็นต้องทราบในเบื้องต้นว่า ส่วนประกอบสำคัญของบ้านแต่ละจุด ควรใช้วัสดุแบบไหน ราคาและจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ของตามสเปคที่ต้องการแบบไม่ขาดไม่เกิน 

หรือแม้แต่เจ้าของบ้านที่จ้างผู้รับเหมาแบบเหมารวม การมีความรู้เรื่อง

แม้แต่เจ้าของบ้านที่จ้างผู้รับเหมาแบบเหมารวม การมีความรู้เรื่องวัสดุติดตัวไว้บ้าง จะสามารถตรวจเช็คเบื้องต้นได้ว่า จำนวนวัสดุและราคาต่าง ๆ เหมาะสมหรือไม่ หากผู้รับเหมาคำนวณไว้ขาดหรือเกิน จะได้ช่วยกันตรวจสอบได้ สำหรับเนื้อหานี้ นำวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายราคาหลังคาเมทัลชีท และการวัดขนาดแผ่นเมทัลชีท สำหรับงานติดตั้งหลังคาเมทัลชีทมาฝากครับ

 

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

ราคาหลังคาเมทัลชีท แผ่นละเท่าไหร่
เมทัลชีทราคา เท่าไหร่ วัดขนาดอย่างไร
ขนาดแผ่นเมทัลชีท และวิธีคำนวณ

ก่อนคำนวณราคาหลังคาเมทัลชีท ต้องรู้อะไรบ้าง

อันดับแรกต้องทราบพื้นที่ใช้งานทั้งหมดก่อน ต่อมาคือขนาดกว้าง x ความยาวของเมทัลชีทรุ่นที่เราต้องการใช้ โดยปกติขนาดแผ่นเมทัลชีท จะมีขนาดความกว้างมาตรฐาน 0.76 เมตร รวมระยะทับซ้อนของแผ่นแล้วส่วนความยาวเมทัลชีทนั้นจะเป็นความยาวตามแนวระบายน้ำฝน โดยความยาวที่มีจำหน่ายสามารถสั่งตัดพิเศษให้ยาวได้ตามต้องการ

ตัวอย่าง คำนวณราคาหลังคาเมทัลชีท

หากต้องการมุงหลังคาทรงโมเดิร์น มีขนาดพื้นที่กว้าง 12 เมตร ยาว 8 เมตร โดยที่ทางระบายน้ำตามความยาว 8 เมตร โดยใช้แผ่นเมทัลชีท รุ่น บลูสโคป แซคส์ คูล® (BlueScope Zacs Cool®) สีน้ำเงิน หนา 0.4 มม. โดยทั่วไป ผู้จำหน่ายจะคิดราคาหลังคาเมทัลชีท 2 แบบ คือ คิดราคาต่อเมตร หรือ คิดราคาต่อตารางเมตร 

วิธีคิดราคาหลังคาเมทัลชีทแบบตารางเมตรไม่ยุ่งยากครับ ซึ่งเท่ากับ ความกว้าง X ความยาว  X ราคาต่อตารางเมตร ตรง ๆ ได้เลย แต่โดยเฉลี่ยแล้ววิธีการคิดลักษณะนี้ จะมีราคาสูงกว่าแบบแยกแผ่น เนื่องด้วยผู้จำหน่ายต้องคำนวณเผื่อระยะทับซ้อนและปริมาณจากการขึ้นรูปลอนด้วย เนื้อหานี้จึงขอแนะนำวิธีคำนวณราคาตามความยาวมาให้ครับ

วิธีคำนวณราคาเมทัลชีทตามความยาวเมตร

1.นำความยาวด้านกว้างของหลังคาตั้ง แล้วหารด้วย 0.76 เมตร

(ความกว้างต่อรวมระยะทับซ้อน) ผลลัพธ์ที่ได้จะเท่ากับจำนวนแผ่นที่ต้องใช้ คือ หากหลังคามีความกว้าง 12 เมตร จะใช้แผ่นเมทัลชีทจำนวน 12÷0.76 = 15.78 ซึ่งตอนสั่งซื้อจริง ต้องปัดเศษส่วนทั้งหมดขึ้นให้เป็นจำนวนเต็ม ในตัวอย่างนี้ จึงต้องใช้เมทัลชีททั้งหมด 16 แผ่น และหลังคามีความยาว 8 เมตร จะต้องใช้ความยาวแผ่นละ 8 เมตร ดังนั้นความยาวทั้งหมดของเมทัลชีทเท่ากับ 16 x 8 = 128 เมตร 

2. เมื่อได้ระยะความยาวของแผ่นเมทัลชีททั้งหมดแล้ว ให้สำรวจราคาต่อเมตรกับผู้จำหน่าย

ซึ่งจะมีราคาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสเปค รูปลอน ยี่ห้อ เกรด คุณภาพของแผ่นเมทัลชีทนั้น ๆ เพราะราคาในแต่ละพื้นจะไม่เท่ากัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้ว่าวัสดุที่ออกมาจะราคาเท่ากัน แต่การที่โรงรีดต้องนำมารีดขึ้นลอนจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น แผ่นเมทัลชีท รุ่นบลูสโคป แซคส์ คูล® (BlueScope Zacs Cool®) น้ำเงิน หนา 0.4 มม. ราคาเมตรละ 120 บาท ดังนั้น ค่าแผ่นเมทัลชีทของบ้านหลังนี้ เท่ากับ

เมทัลชีทยาวทั้งหมด 128 เมตร x 120 = ราคา 15,360 บาท

โดยราคาเมทัลชีทดังกล่าว เฉพาะแผ่นเมทัลชีทล้วน ๆ ครับ ยังไม่รวมถึงค่าบริการในการจัดส่ง ค่าติดตั้ง ค่าอุปกรณ์เสริม เช่นสกรูหรือ แผ่นครอบต่างๆ หรือหากเจ้าของบ้านต้องการสเปคที่แตกต่างกัน ราคาย่อมแตกต่างกัน เช่น ชั้นเคลือบอลูซิงค์ AZ70 และ AZ150 ซึ่งมีตั้งแต่ 0.25, 0.28, 0.30,  0.33, 0.35, 0.47 ,0.50 มิลลิเมตร และคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ เช่น เคลือบสีหรือไม่เคลือบสี รุ่นมีฉนวนติดตั้งมาแบบสำเร็จรูป ซึ่งช่วงราคาก็จะต่างกันตามไปด้วย เจ้าของบ้านสามารถเลือกตามงบประมาณที่มีได้ตามสะดวก 

นอกจากวัสดุหลังคา แผ่นเมทัลชีทแล้ว ยังมีวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ควบคู่กันในการติดตั้งด้วย อาทิ  แผ่นครอบ / Flashing ใช้เก็บงานขอบหรือรอยต่อของหลังคาเมทัลชีท เช่น แผ่นปิดครอบหลังคาเหล็กเมทัลชีทมุมใน แผ่นปิดครอบมุมนอก แผ่นปิดครอบด้านข้าง ด้านหน้าของแผ่นหลังคา และแผ่นปิดครอบจั่วสำหรับครอบสันกลางของหลังคา เป็นต้น

ขนาดหลังคาเมทัลชีท และวิธีคำนวณ

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในงานติดตั้งหลังคาเมทัลชีทโดยประมาณ

  • ค่าแรงติดตั้ง 150-300 บาท/ตร.ม.
  • ฉนวน PU 150 – 300 บาท/ตร.ม.
  • ฉนวน PE 50 – 100 บาท/ตร.ม.
  • แผ่นครอบ Flashing  50- 200 บาท/เมตร

นอกจากการคำนวณราคาหลังคาเมทัลชีทตามที่ได้แจ้งไว้ในเนื้อหาข้างต้นแล้ว ยังมีการคิดราคาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสเปคของเมทัลชีท เช่น เลือกใช้รุ่นที่มีฉนวนติดตั้งมาให้พร้อม ผู้ผลิตจะทำการติดตั้งฉนวนมาให้กับแผ่นเมทัลชีทจากโรงงานเลย

หรือปัจจุบันมีบริการแยกเหมาเฉพาะงาน เช่น เจ้าของบ้านว่าจ้างแยกงานหลังคาจากผู้รับเหมาหลัก เพื่อให้บริษัทที่เชี่ยวชาญเฉพาะงานหลังคามาติดตั้งให้แบบครบวงจรก็มีให้เลือกใช้บริการเช่นกันครับ ที่สำคัญ ก่อนว่าจ้างผู้ให้บริการ หรือสั่งซื้อสินค้าใด ๆ ควรศึกษาข้อมูล สเปควัสดุและราคาอย่างรอบคอบ โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพงานมากกว่าราคาที่ต่ำ เพื่อให้ได้บ้านที่อยู่สบาย มั่นคงแข็งแรง ไร้ปัญหาจุกจิกรบกวนในภายหลังครับ