หลังคาบ้าน

ออกแบบหลังคาบ้านอย่างไร ให้ดูแลง่าย ประหยัดงบก่อสร้าง

โดยเฉลี่ยแล้วงบประมาณการก่อสร้างบ้านแต่ละหลัง จะถูกแบ่งเป็นงานหลังคาประมาณ 7-15% ขึ้นอยู่กับว่าบ้านหลังนั้นใช้หลังคารูปแบบใด วัสดุใด และเป็นที่ทราบกันดีว่า หากต้องการลดงบประมาณงานหลังคาให้ต่ำลง หลังคาเมทัลชีทจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดีครับ

ปัจจุบันเราจึงสังเกตเห็นได้ว่า บ้านเรือนสมัยใหม่ในไทยนิยมหันมาใช้หลังคาเมทัลชีทกันมากขึ้น หรืออาจมากกระทั่งแซงหลังคากระเบื้องซีแพคไปแล้วก็เป็นได้ เนื้อหานี้พาไปเจาะลึกงานดีเทลหลังคากันอย่างละเอียด เพื่อให้เจ้าของบ้านประหยัดทั้งงบวัสดุ งบค่าแรง และประหยัดไปถึงการดูแลรักษาในอนาคต

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
ออกแบบ : Punplan

4 แนวทางออกแบบหลังคาเมทัลชีทให้ประหยัด

จบผืนเดียว ติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน

สำหรับงานหลังคา หากมีการออกแบบและการติดตั้งที่ซับซ้อนมากเท่าไหร่จะยิ่งเพิ่มต้นทุนหลังคามากขึ้นเท่านั้น และหากงานหลังคาซับซ้อนหรือมีรอยต่อมาก จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเกิดปัญหารั่วซึมภายในอนาคตได้ งานหลังคาที่ดูแลง่ายจึงช่วยเจ้าของบ้านประหยัดตั้งแต่งบวัสดุ ค่าแรง และค่าดูแลรักษาภายหลัง

หลังคาที่สามารถจบในผืนเดียวได้ดีที่สุดคือหลังคาแบบ Lean To หรือนิยมเรียกกันว่าเพิงหมาแหงนหรือหลังคาทรงโมเดิร์นนั่นเองครับ หลังคาประเภทนี้หากใช้เมทัลชีทในการติดตั้ง จะสามารถสั่งตัดเมทัลชีทตามขนาดความยาวของหลังคาได้เลย ซึ่งช่วยลดรอยต่อของแผ่นหลังคา สามารถลดการเกิดปัญหารั่วซึมได้ การติดตั้งช่างติดตั้งได้ง่าย ประหยัดงบอุปกรณ์ Flashing และสามารถออกแบบให้ Slope ของหลังคาทำองศาต่ำได้ครับ 

หลังคาบ้าน

ออกแบบ : Punplan

มีชายคา กันแดด กันฝน

ปัจจุบันบ้านสมัยใหม่นิยมนำหลังคาเมทัลชีท มาประยุกต์ใช้ร่วมกับบ้านกล่องสไตล์โมเดิร์น ซึ่งในอดีตการทำบ้านลักษณะนี้จะต้องใช้หลังคาคอนกรีต Slab เท่านั้น ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าหลังคาทั่วไปและมักเกิดปัญหารั่วซึมภายหลัง ด้วยคุณสมบัติเด่นของเมทัลชีทที่สามารถทำองศาได้ต่ำ สถาปนิกจึงนำคุณสมบัตินี้ ทำการซ่อนหลังคาไว้ในกล่อง เมื่อมองบ้านจากภายนอก จะมองไม่เห็นหลังคา จึงช่วยลดงบประมาณ ลดปัญหางานหลังคาไปได้มากครับ

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการนี้จะช่วยลดต้นทุนงานหลังคาไปได้มากแล้ว แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายจุกจิกซ่อนอยู่ และการดูแลรักษาระยะยาวค่อนข้างยาก เพราะหากมีอะไรมาอุดตันระบบรางน้ำที่ถูกซ่อนไว้ภายใน อาจส่งผลให้เกิดการรั่วซึมได้เช่นกันครับ

หากต้องการประหยัดงบก่อสร้าง และให้บ้านดูแลง่ายในระยะยาว การออกแบบหลังคาบ้านให้มีชายคากันแดดยื่นออกนอกอาคารประมาณ 1-2 เมตร จะช่วยบังแดด ป้องกันฝนสาด และดูแลง่ายกว่าหลังคาซ่อนเมทัลชีทมากครับ เพราะหลังคาลักษณะนี้มีระบบระบายน้ำที่ไม่ซับซ้อน สามารถปล่อยตามธรรมชาติได้เลย หรือหากต้องการเพิ่มรางน้ำก็สามารถเพิ่มรางบริเวณขอบรอบหลังคาได้ทันที

หลังคาบ้าน

ออกแบบ : Punplan

Slope หลังคา 5 องศาขึ้นไป

เมื่อเทียบคุณสมบัติของเมทัลชีทกับวัสดุหลังคาประเภทอื่น ๆ แล้ว เมทัลชีทนับเป็นวัสดุหลังคาที่สามารถทำองศาหลังคาได้ต่ำมาก หากเป็นเมทัลชีททั่วไป รองรับ Slope หลังคาต่ำสุดที่ 5 องศา แต่หากต้องการให้ต่ำกว่านี้จะมีรุ่นพิเศษแบบคลิปล็อก รองรับได้ต่ำสุดถึง 3 องศาเลยครับ อย่างไรก็ตามต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างหลังคาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการตกท้องช้างของแผ่นหลังคาครับ

และแน่นอนว่า เมื่อเป็นรุ่นพิเศษราคาย่อมพิเศษตาม หากเจ้าของบ้านเน้นประหยัดงบประมาณ การเลือกที่จะออกแบบหลังคาให้มีองศาตามมาตรฐานที่วัสดุเมทัลชีทรุ่นทั่วไปสามารถทำได้ จึงช่วยประหยัดงบก่อสร้างได้ดีกว่า ทั้งยังหาซื้อวัสดุได้ง่าย และเมื่อ Slope หลังคามีความลาดชันมากขึ้น การระบายน้ำฝนจะสามารถระบายได้รวดเร็วกว่าด้วยครับ

เลือกหลังคาสีขาว สีครีม

ปัจจุบันเมทัลชีทของบลูสโคป  มีให้เลือกหลายเฉดสี พร้อมผ่านกระบวนการเคลือบสีสะท้อนความร้อนมาให้ในตัว เช่น บลูสโคป แซคส์ คูล® (BlueScope Zacs Cool®) ที่มี Cool coating Technology แต่หากหลังคาบ้านของผู้อ่าน ออกแบบตาม 3 แนวทางข้างต้นแล้ว สีสันที่สวยงาม ย่อมไม่จำเป็นเพราะจะมองไม่เห็นจากด้านล่างเลยครับ

การเลือกหลังคาเมทัลชีทสีขาว สีครีม  ซึ่งเป็นเฉดสีอ่อนที่มีคุณสมบัติการสะท้อนความร้อนได้ดีกว่าหลังคาสีเข้ม ทำให้ถ่ายเทความร้อนเข้ามาสู่ตัวบ้านได้น้อย หากเป็นหลังคาสีเข้มจะมีคุณสมบัติการดูดความร้อนสูง ซึ่งการเลือกใช้หลังคาสีอ่อนจะช่วยสะท้อนความร้อน ลดการสะสมความร้อนภายในบ้าน และยังช่วยให้ประหยัดค่าไฟแอร์ได้อีกด้วยครับ

รูปลอนหลังคา ให้เลือกลอนมาตรฐาน เพราะจะมีราคาที่ย่อมเยากว่า ลอนดีไซน์พิเศษอื่นๆ เพราะลอนใหญ่ อย่างลอน 360SEAM  ดังกล่าวจะเหมาะกับบ้านที่เน้นโชว์งานหลังคาเป็นพิเศษ หรือนำแผ่นเมทัลชีทมาใช้ในงานตกแต่งผนัง หากเป็นหลังคาตามแนวทางที่แนะนำไว้ ลอนทั่วไปก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ

ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ในงานหลังคาเมทัลชีท

  • ค่าแรงติดตั้ง 150-300 บาท/ตร.ม.
  • ฉนวน PU 150 – 300 บาท/ตร.ม.
  • ฉนวน PE 50 – 100 บาท/ตร.ม.
  • แผ่นครอบ Flashing  50- 200 บาท/เมตร
  • แผ่นหลังคาเมทัลชีท เมตรละ 80-150 ขึ้นอยู่กับความหนา รุ่น เกรดวัสดุ

การนำความรู้ในงานออกแบบมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้งานก่อสร้างมีต้นทุนที่ถูกลง ติดตั้งง่ายและดูแลรักษาง่ายในระยะยาว ไม่เพียงแค่ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ยังช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในงานก่อสร้างได้อีกด้วยครับ

 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรประหยัด คือ คุณภาพของวัสดุหลังคา อุปกรณ์เสริม และงานโครงสร้างหลังคา ควรเลือกวัสดุที่ได้รับมาตรฐาน มอก.รองรับ หรือมาตรฐานสากลอื่น ๆ และทำการติดตั้งตามสเปคที่สถาปนิกและวิศวกรกำหนด ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้อย่างยาวนาน ลดปัญหาในงานก่อสร้างและการดูแลรักษาไปได้มาก “การประหยัดด้วยงานออกแบบนั้นดี แต่หากประหยัดที่เกรดวัสดุ ไม่ดีอย่างแน่นอนครับ”