แนวทางการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ บน หลังคาเมทัลชีท
ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกไปเพื่อความสะดวกสบายของเรานั่นเอง หากมองในมุมมองของผู้บริโภค เรื่องของพลังงานไฟฟ้าเป็นราคาที่เราต้องจ่าย คงจะดีกว่าหากในอนาคตครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนที่เหลือมาขายกลับเป็นรายได้ ด้วยการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าทางเลือกให้กับที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสามารถลดต้นทุนในการผลิตในงานอุตสาหกรรม อีกทั้งได้มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในส่วนงานที่พักอาศัย งานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) เรื่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม
การติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ จะต้องดำเนินการติดตั้ง หลังจากติดตั้งหลังคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะต้องทำการเจาะหลังคาเพื่อยึดอุปกรณ์ของแผงโซล่าเซลล์ กับโครงสร้างหลังคา ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการรั่วซึมได้หากไม่ได้รับการติดตั้งอย่างถูกวิธี โดยช่างผู้ชำนาญการ ทั้งนี้หลังคาเมทัลชีท บางรูปลอน ได้ถูกออกแบบ ให้สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ โดยใช้อุปกรณ์จับยึดกับลอนคา (connector) ได้โดยไม่ต้องทำการเจาะหลังคา ซึ่งสามารถลดโอกาสที่น้ำจะรั่วซึมเมื่อเกิดฝนตกได้
วันนี้เรามีข้อแนะนำ ข้อควรปฎิบัติ และข้อควรระวัง 10 ประการ สำหรับการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคาเมทัลชีท เพื่อลดโอกาสการเกิดการกัดกร่อน และ เพื่อให้หลังคาเมทัลชีทมีอายุการใช้งานได้ตามปรกติ
- ช่องว่างระหว่างสันลอนหลังคาถึงระบบแผงโซล่าเซลล์ ควรมีความห่างประมาณ 5 – 10.0 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถระบายใบไม้หรือสิ่งต่างๆ ที่จะมาติดอยู่ด้านล่างของแผงโซล่าเซลล์ และ ลดโอกาสในการที่ลมจะพัดสอดเข้าใต้แผงโซล่าเซลล์แล้วทำให้แผงหลุดออกจากหลังคาและเกิดความเสียหายได้
- วัสดุของส่วนประกอบของระบบแผงโซล่าเซลล์ แนะนำให้ใช้เป็น อะลูมิเนียม หรือ สังกะสี หากมีวัสดุที่เป็น สแตนเลส แนะนำให้มีการติดตั้งโดยไม่สัมผัสโดยตรงกับแผ่นเมทัลชีท โดยอาจจะมีวัสดุที่เป็นฉนวนติดตั้งร่วมด้วยเช่น แผ่นยาง EPDM
3. ป้องกันโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อแผ่นหลังคาเมทัลชีท เช่น การเดินเหยียบบนสันลอนหลังคาจนทำให้เกิดการหักยุบ การลากอุปกรณ์ต่างๆ บนแผ่นเมทัลชีท รวมไปถึงทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนแผ่นเมทัลชีท
4. น๊อตสกรู และ ข้อต่อทั้งหมดที่ใช้ในการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ ควรมีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับแผ่นหลังคาเมทัลชีท และสามารถใช้ร่วมกับระบบแผงโซล่าเซลล์ได้
5. การทำความสะอาด ล้างหลังคาหลังการติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ จะช่วยลดโอกาสการเกิดสนิมจุด บนแผ่นเมทัลชีทได้
6. การติดตั้งสายไฟ ควรวางอยู่ในรางอุปกรณ์สำหรับวางสายไฟ และควรติดตั้งไว้กับโครงสร้างของระบบแผงโซล่าเซลล์ เพื่อความเรียบร้อย เพื่อป้องกันสายไฟชำรุดจากความร้อนของหลังคาและป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรหากสายไฟชำรุด
7. ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการติดตั้งสายดินของระบบแผงโซล่าเซลล์อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบแผงโซล่าเซลล์ สายดินมีฉนวนหุ้มหรือร้อยผ่านท่อเดินสายไฟและวางอยู่ในรางอุปกรณ์สำหรับวางสายไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อแผ่นหลังคาเมทัลชีทด้วย
8. หากพบว่าแผ่นเมทัลชีท ได้รับความเสียหายและอาจส่งผลให้เกิดการรั่วซึมได้หากฝนตก ควรได้รับการเปลี่ยนแผ่น/หรือซ่อมบำรุงให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
9. ซิลิโคน แนะนำให้ใช้ชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นกลางเท่านั้น โดยสามารถสังเกตหาสัญญาลักษณ์ Neutral curing sealant บนฉลากผลิตภัณฑ์ซิลิโคน
10. แผงโซล่าเซลล์ และแผ่นหลังคาเมทัลชีท ควรได้รับการบำรุงรักษา ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า ทุกๆ 6 เดือน และหากพบว่า น๊อตสกรูหรืออุปกรณ์จับยึด ได้รับความเสียหาย ควรดำเนินการซ่อมแซมทันที
หากสามารถปฎิบัติตามข้อแนะนำ ข้อควรปฎิบัติ และข้อควรระวังทั้ง 10 ประการนี้ได้ จะมั่นใจได้ว่า แผ่นหลังคาเมทัลชีทที่ติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานได้ตามปรกติอย่างแน่นอน