หลังคาเมทัลชีท ความหนา

หลังคาบ้านปูด้วยเมทัลชีท เลือกความหนาเท่าไหร่ ถึงจะดี

การสร้างบ้านแต่ละหลังมีเรื่องให้ขบคิดพิจารณากันเยอะมากครับ โดยเฉพาะสเปควัสดุ ที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักมีส่วนร่วมในการเลือก วัสดุแต่ละชนิด แต่ละประเภท มีสเปค มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ผู้เป็นเจ้าของบ้านจำเป็นต้องค่อย ๆ ทำความรู้จัก ศึกษาข้อดี ข้อเสียของวัสดุนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

โดยเฉพาะงาหลังคาบ้าน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เจ้าของบ้านต้องใส่ใจเรื่องคุณสมบัติเป็นพิเศษ เพราะหากเลือกวัสดุไม่ดีมาใช้งาน ย่อมส่งผลถึงความเป็นอยู่ไปอีกหลายสิบปี และอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังบานปลาย ยากที่จะแก้ไขภายหลังได้ เนื้อหานี้ บลูสโคป นำแนวทางการเลือกระดับความหนาของหลังคาเมทัลชีท เพื่อให้ผู้ออกแบบหรือเจ้าของบ้าน เลือกใช้อย่างเหมาะสมครับ

ผู้เขียน | อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

หลังคาเมทัลชีทบางเกินไป ส่งผลอย่างไรบ้าง

การทำหลังคาบ้านด้วยแผ่นเมทัลชีท มีข้อดีหลายด้าน ทั้งเรื่องความไวในงานติดตั้ง น้ำหนักเบาช่วยลดภาระงานโครงสร้าง และด้วยคุณสมบัติที่สามารถสั่งตัดตามความยาวของหลังคาได้ จึงลดปัญหาการรั่วซึมในระยะยาวได้ดีกว่าวัสดุหลังคาชนิดอื่น ๆ แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของเมทัลชีท เป็นแผ่นเหล็กรีดลอนบาง ๆ ทำให้มีจุดอ่อนเรื่องเสียงรบกวนขณะฝนตก ยิ่งแผ่นเมทัลชีทบางมาก เสียงเม็ดฝนที่ตกกระทบก็จะยิ่งดังกึกก้องมากกว่าเมทัลชีทแผ่นหนา

หลังคาเมทัลชีท

ขณะติดตั้งแผ่นหลังคา อาจมีบางจังหวะที่ช่างจำเป็นต้องยืนเหยียบย่ำบนแผ่นหลังคา ยิ่งแผ่นเมทัลชีทมีความบางมากจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการบุบ ยุบตัวของลอนหลังคาซึ่งอาจส่งผลให้เกิดรูรั่วภายหลังได้ อย่างไรก็ตามการขึ้นเหยียบบนแผ่นหลังคา จำเป็นต้องเหยียบอย่างถูกวิธี โดยห้ามเหยียบบริเวณสันลอน แต่ให้เหยียบบริเวณท้องลอนเท่านั้น และให้สังเกตตำแหน่งสกรู เพราะเป็นตำแหน่งที่มีงานโครงสร้างมารองรับไว้อีกชั้น ช่วยลดความเสียหายในงานติดตั้งได้ดีครับ

เลือกหลังคาเมทัลชีท ความหนาเท่าไหร่ดี

ปัจจุบันแผ่นเมทัลชีทมีจำหน่ายที่ความหนา โดยทั้งนี้เราจะพูดกันที่ความหนารวมเช่น ถ้าเป็นเมทัลชีทที่ไม่เคลือบสี จะดูที่ความหนารวมชั้นเคลือบ หากเป็นเมทัลชีทเคลือบสี ก็จะดูที่ความหนารวมชั้นเคลือบโลหะและเคลือบสี ทั้งนี้ แผ่นเมทัลชีทที่มีความหนาน้อย ไม่ได้หมายถึงด้อยคุณภาพนะครับ ความหนาแต่ละระดับล้วนมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป จุดสำคัญจึงอยู่ที่การนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับลักษณะงานนั้น ๆ

เมทัลชีท หนา 0.3-0.35 มิลลิเมตร เหมาะกับทำรั้ว กำแพงบ้าน

เมทัลชีทที่บางมาก ช่วยลดต้นทุนในงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี และงานบางลักษณะไม่ได้จำเป็นต้องหนามากก็สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ครับ อย่างงานรั้วกั้นพื้นที่สวน รั้วกั้นพื้นที่ชั่วคราว หากนำเมทัลชีทมาใช้ทำเป็นผนังกำแพงรั้ว จะช่วยลดงบประมาณการทำรั้วได้มาก ตัวอย่าง รั้วกำแพงก่ออิฐฉาบทาสีทั่วไป ที่ความสูง 2 เมตร ต้นทุนค่าวัสดุและค่าแรง เฉลี่ยเมตรละ 3,500 – 5,000 บาท แต่หากเป็นรั้วเมทัลชีทโครงสร้างเหล็ก ที่ความสูง 2 เมตร ใช้แผ่นเมทัลชีทหนา 0.3-0.35 มิลลิเมตร ค่าวัสดุและค่าแรง เฉลี่ยเมตรละ 650-1,000 บาท เท่านั้น ต้นทุนห่างกันเป็นเท่าตัวเลยครับ

เมทัลชีท บลูสโคป

เมทัลชีท หนา 0.35-0.4 มิลลิเมตร เหมาะกับพื้นที่ปลอดโปร่ง ภายนอก

พื้นที่อยู่อาศัยของบ้านแต่ละจุดมีความสำคัญแตกต่างกัน หากเป็นตัวบ้านหลักหรือพื้นที่ใช้สอยภายในจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเป็นพื้นที่พักผ่อน พื้นที่หลับนอน แต่สำหรับพื้นที่ใช้งานชั่วคราวอย่างโรงจอดรถยนต์, ครัวไทย, เฉลียงนอกบ้าน, ชายคากันสาด พื้นที่ดังกล่าวใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โปร่งภายนอกอากาศจึงถ่ายเทได้ดี พื้นที่ลักษณะนี้เจ้าของบ้านสามารถประหยัดงบก่อสร้างได้ด้วยการเลือกความหนาเมทัลชีทระดับกลาง ประมาณ 0.35-0.4 มิลลิเมตรก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ

แผ่นเมทัลชีท หลังคาเมทัลชีท

เมทัลชีท หนา 0.4-0.47 มิลลิเมตรขึ้นไป เหมาะกับหลังคาบ้าน

การอยู่อาศัยภายในบ้านที่ดี จำเป็นต้องได้รับความสงบเงียบ และมีอุณหภูมิอากาศที่เย็นสบาย เมทัลชีทที่มีความหนามาก จะช่วยลดเสียงดังขณะฝนตกได้ดี โดยเสียงที่ได้เป็นเสียงทุ้ม นุ่มนวล แตกต่างกับเมทัลชีทแผ่นบาง มีเสียงกระทบจากเม็ดฝนโทนแหลม ดังกึกก้อง

หากไม่ติดเรื่องงบประมาณก่อสร้าง หลังคาหลักของบ้านแนะนำที่ขนาดความหนา 0.47 มิลลิเมตร จุดที่อยากให้พิจารณา คือ ต้นทุนค่าแรงช่างและค่าดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะติดตั้งหลังคาเมทัลชีท 0.35 หรือ 0.47 มิลลิเมตร ค่าติดตั้งยังคงเท่าเดิม เพิ่มขึ้นมาเพียงค่าวัสดุเท่านั้น แต่การเลือกแผ่นเมทัลชีทที่หนากว่า เจ้าของบ้านจะได้ความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยอยู่สบายมากยิ่งขึ้นครับ